วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การศึกษาในประเทศไทย

      การศึกษาในประเทศไทย เป็นการศึกษาที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย โดยภาครัฐจะเข้ามาดูแลโดยตรงและเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา สำหรับการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยนั้นได้กำหนดให้พลเมืองไทยต้องจบการศึกษาอย่างน้อยที่สุดในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  และต้องเข้ารับการศึกษาอย่างช้าสุดเมื่ออายุ 7 ปี ซึ่งการศึกษาภาคบังคับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแบ่งออกเป็นระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปีและมัธยมศึกษา 6 ปี นอกจากนี้แล้วการศึกษาขั้นพื้นฐานยังรวมถึงการศึกษาปฐมวัยอีกด้วย  ทั้งนี้รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ส่วนการบริหารและการควบคุมการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบันการศึกษาในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาของประเทศไทยนั้นถูกมองว่าล้าหลังและล้มเหลวเสมอมา  กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ว่า เด็กไทยมีระดับเชาวน์ปัญญา 98.59 ซึ่งต่ำกว่าค่ามัธยฐานของเชาวน์ปัญญาทั้งโลกที่ระดับ 100 โดยเด็กไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสติปัญญาน้อยที่สุด สูงขึ้นมาจึงเป็นภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลางตามลำดับ

ระบบโรงเรียน

สำหรับระบบการศึกษาในโรงเรียนของประเทศไทยนั้นจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 ช่วงชั้นที่ 2 ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ช่วงชั้นที่ 3 คือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3) และช่วงชั้นที่ 4 คือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (มัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6)  โดยในช่วงชั้นที่ 4 นั้นนอกจากจะมีการจัดการศึกษาในสายสามัญแล้ว ยังมีการจัดการศึกษาในสายอาชีพด้วย ซึ่งในระดับชั้น ปวช. 1 - 3 นั้นจะเทียบเท่ากับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยนักเรียนที่เลือกสายสามัญมักมีความตั้งใจที่จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนนักศึกษาที่เลือกสายอาชีพมักวางแผนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การจ้างงานและศึกษาเพิ่มเติม
ในการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย รวมไปถึงอาชีวศึกษาจำเป็นต้องมีการสอบข้อเขียนซึ่งจัดสอบโดยโรงเรียน ส่งผลให้ในบางครั้งอาจมีปัญหานักเรียนไม่มีที่เรียนได้  นอกจากนักเรียนจะต้องสอบข้อเขียนของโรงเรียนแล้ว นักเรียนจำเป็นต้องมีคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (ONET) ซึ่งมีการจัดสอบในช่วงปลายภาคเรียนที่ 2 ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และปลายภาคเรียนที่ 2 ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ยื่นประกอบในการพิจารณา ส่วนการทดสอบระดับชาติของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปที่ 6 จะนำไปใช้ในการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้นมีการแบ่งโรงเรียนออกเป็น 2 รูปแบบ คือ โรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน  โดยโรงเรียนรัฐนั้นจะบริหารจัดการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือหน่วยงานอื่นๆที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ส่วนโรงเรียนเอกชนจะบริหารจัดการโดยกลุ่มบุคคลหรือมูลนิธิต่างๆที่มีใบอนุญาตจัดตั้ง  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นโรงเรียนที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม เป็นหลัก ในเขตชนบทของประเทศไทยนั้นหลายๆโรงเรียนมีลักษณะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส คือ มีการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นประถมศึกษา - มัธยมศึกษาตอนต้น หรืออาจมีการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาปฐมวัยด้วยก็ได้
เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณทางการศึกษาแก่โรงเรียนชนบท ส่งผลให้นักเรียนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเอกชนมากกว่าโรงเรียนของรัฐ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนอยู่ในระดับมาตรฐานที่ดี  หรือเข้าศึกษาต่อในเขตเมืองของจังหวัดนั้น ๆ

ระดับชั้น

การจัดการศึกษาในประเทศไทยในระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาและในระดับอาชีวศึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาโดยภาคการศึกษาแรกจะจัดการเรียนการสอนระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคมถึงวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี ในขณะที่ภาคการศึกษาปลายจะเริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายนถึงวันที่ 1 เมษายน  อย่างไรก็ตามมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนเวลาการเปิดภาคการศึกษาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มประเทศอาเซียน แต่กระทรวงศึกษาธิการยังคงยืนยันที่จะกำหนดวันเปิดปิดภาคเรียนตามเดิม  สำหรับในระดับอุดมศึกษานั้นมีการจัดการเรียนการสอนออกเป็นทวิภาค ยกเว้นหลักสูตรนานาชาติที่จัดการเรียนการสอนแบบไตรภาค โดยมีภาคฤดูร้อนให้นิสิต/นักศึกษาสามารถเข้ามาศึกษาได้

ระดับการศึกษาในมัธยมศึกษา 

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอายุระหว่าง 12 ถึง 14 ปี ที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาแล้ว ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจัดการเรียนการสอน 3 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอายุระหว่าง 15 ถึง 17 ปี ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษ แล้วโดยจัดการเรียนการสอน 3 ปี โดยการเรียนการสอนมี 2 ประเภท แบ่งออกดังนี้

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

  • มัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 ใช้เวลาในการศึกษาตามหลักสูตรคือ 3 ปีโดยแบ่งการศึกษาออกเป็นกลุ่มสาระต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน
กลุ่มที่เน้นการเรียนรู้ด้าน วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์(วิทย์-คณิต)
กลุ่มที่เน้นการเรียนรู้ด้าน ศิลปศาสตร์-คณิตศาสตร์ (ศิลป์-คำนวณ)
กลุ่มที่เน้นการเรียนรู้ด้าน ศิลปศาสตร์-ภาษา (ศิลป์-ภาษา)
กลุ่มที่เน้นการเรียนรู้ด้าน ศิลปศาสตร์-สังคม (ศิลป์-สังคม)

การศึกษาต่อสายอาชีวศึกษา

การศึกษาต่อสายอาชีวศึกษา เป็นการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 3 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการศึกษาวิชาชีพ เพื่อพัฒนากำลังคนเฉพาะสาขาวิชาชีพ (ระดับเทคนิค) ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นผู้ปฏิบัติงานหัวหน้างานหรือเป็นผู้ประกอบการ และการประกอบอาชีพอิสระได้โดยเน้นการแก้ปัญหาสร้างองค์ความรู้ในอาชีพ มีบุคลิกภาพ คุณธรรมและเจตคติที่ดี หลังจากศึกษาจบแล้วสามารถศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อีก 2 ปี หรืออาจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี 4 ปีก็ได้เช่นกัน โดยเมื่อผู้เรียนจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถเลือกเรียนทางด้านสายอาชีพอาชีวศึกษาได้

หลักสูตรในสายอาชีวศึกษา

1. ประเภทวิชาอุตสาหกรรม
  1. สาขาวิชาเครื่องกล แบ่งออกเป็น สาขางานยานยนต์ เครื่องกลอุตสาหกรรม เครื่องกลเรือ เครื่องกลเกษตร ตัวถังและสีรถยนต์
  2. สาขาวิชาเครื่องมือกลและซ่อมบำรุง แบ่งออกเป็น สาขางานเครื่องมือกล ซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล เขียนแบบเครื่องกล ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเกษตร แม่พิมพ์พลาสติก แม่พิมพ์โลหะ
  3. สาขาวิชาโลหะการแบ่งออกเป็น สาขางานเชื่อมโลหะ อุตสาหกรรมต่อตัวถังรถโดยสาร
  4. สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็น สาขางานไฟฟ้ากำลัง อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม เมคคาทรอนิกส์ เทคนิคคอมพิวเตอร์
  5. สาขาวิชาการก่อสร้างแบ่งออกเป็น สาขางานก่อสร้าง โยธา สถาปัตยกรรม เครื่องเรือนและการตกแต่งภายใน สำรวจ
  6. สาขาวิชาการพิมพ์ แบ่งออกเป็น สาขางานการพิมพ์
  7. สาขาวิชาแว่นตาและเลนส์ แบ่งออกเป็น สาขางานแว่นตาและเลนส์
  8. สาขาวิชาการต่อเรือ แบ่งออกเป็น สาขางานต่อเรือโลหะ ต่อเรือไม้ ต่อเรือไฟเบอร์กล๊าส นาวาสถาปัตย์ ซ่อมบำรุงเรือ
  9. สาขาวิชาผลิตภัณฑ์ยาง แบ่งออกเป็น สาขางานผลิตภัณฑ์ยาง
2. ประเภทวิชาพณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ
  1. สาขาวิชาพณิชยการแบ่งออกเป็น สาขางานการบัญชี การขาย การเลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสถานพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ภาษาต่างประเทศ งานสำนักงานสำหรับผู้พิการทางสายตา
  2. สาขาวิชาธุรกิจบริการ แบ่งออกเป็น สาขางานการจัดการความปลอดภัย การจัดการความสะอาด
3.ประเภทวิชาศิลปกรรม
  1. สาขาวิชาศิลปกรรมแบ่งออกเป็น สาขางาน วิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตถกรรม อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เครื่องเคลือบดินเผา เทคโนโลยีการถ่ายภาพฯ เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง เทคโนโลยีศิลปกรรม การพิมพ์สกรีน คอมพิวเตอร์กราฟิก ศิลปหัตถกรรมโลหะ รูปพรรณและเครื่องประดับ ดนตรีสากล เทคโนโลยีนิเทศศิลป์ ช่างทันตกรรม
4. ประเภทวิชาคหกรรม
  1. สาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกายแบ่งออกเป็น สาขางาน ผลิตและตกแต่งสิ่งทอ ออกแบบเสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ธุรกิจเสื้อผ้า
  2. สาขาวิชาอาหารและโภชนาการแบ่งออกเป็น สาขางาน อาหารและโภชนาการ แปรรูปอาหาร ธุรกิจอาหาร
  3. สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์แบ่งออกเป็น สาขางาน คหกรรมการผลิต คหกรรมการบริการ ธุรกิจคหกรรม คหกรรมเพื่อการโรงแรม
  4. สาขาวิชาเสริมสวยแบ่งออกเป็น สาขางาน เสริมสวย
5. ประเภทวิชาเกษตรกรรม
  1. สาขาวิชาเกษตรศาสตร์แบ่งออกเป็น สาขางาน พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร ช่างเกษตร เกษตรทั่วไป การประมง
6. ประเภทวิชาประมง
  1. สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แบ่งออกเป็น สาขางาน เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  2. สาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำ แบ่งออกเป็น สาขางาน แปรรูปสัตว์น้ำ การผลิตซูริมิและผลิตภัณฑ์
  3. สาขาวิชาประมงทะเล แบ่งออกเป็น สาขางาน ประมงทะเล
7. ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
  1. สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น สาขางาน การโรงแรม การท่องเที่ยว
8. ประเภทวิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
  1. สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอ แบ่งออกเป็น สาขางาน เทคโนโลยีสิ่งทอ
  2. สาขาวิชาเคมีสิ่งทอ แบ่งออกเป็น สาขางาน เคมีสิ่งทอ
  3. สาขาวิชาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป แบ่งออกเป็น สาขางาน อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป
9. ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  1. สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ แบ่งออกเป็น สาขางาน เทคโนโลยีสารสนเทศ
  2. สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบเสียง แบ่งออกเป็น สาขางาน เทคโนโลยีระบบเสียง
10. หลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) 2551
  1. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิชาเอก คอมพิวเตอร์ธุรกิจ
  2. สาขาวิชาเครื่องกล วิชาเอก เทคนิคช่างยนต์
  3. สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิชาเอก เชื่อมและประสาน
  4. สาขาวิชาโยธา วิชาเอก เทคนิคโยธา
  5. สาขาวิชาไฟฟ้า วิชาเอก เทคนิคไฟฟ้ากำลัง
  6. สาขาวิชาไฟฟ้า วิชาเอก เทคนิคไฟฟ้าสื่อสาร

เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา


เครื่องแบบนักเรียนไทย
ดูบทความหลักที่: เครื่องแบบนักเรียนไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 โดยสถานศึกษาจะต้องกำหนดเครื่องแบบให้ตรงตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการหรืออาจใช้เครื่องแบบอื่นตามที่สถานศึกษากำหนดก็ได้  โดยเครื่องแบบต่างๆของทุกระดับชั้นจะถูกกำหนดโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551
สำหรับในระดับอุดมศึกษา ประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศของโลกที่บังคับใช้เครื่องแบบในระดับอุดมศึกษา อีกสามประเทศคือ ประเทศลาว ประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม  สำหรับเครื่องแบบในระดับอุดมศึกษานั้นยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,293 คน ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2556 พบว่า ร้อยละ 94.44 มีความคิดเห็นว่าเครื่องแบบยังมีความจำเป็นอยู่

ครูผู้สอน

ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนการสอน มีหน้าที่ในการถ่ายทอดสรรพศาสตร์ทั้งปวง การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้ที่ก้าวทันเทคโนโลยี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีทักษะการวัดและประเมินผล ทักษะการวิจัยและเป็นผู้ที่มีจิตใจที่พร้อมให้บริการแก่ศิษย์และคนในชุมชน  ดังนั้นครูจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการศึกษาไทย สำหรับในปี พ.ศ. 2556 มีครูไทยปฏิบัติการสอนทั้งสิ้นประมาณ 660,000 คน โดยเป็นครูในภาครัฐจำนวน 538,563 คน และครูภาคเอกชน จำนวน 139,392 คน  โดยมีการกำหนดอัตราส่วนมากที่สุดของครูหนึ่งคนต่อนักเรียนหนึ่งห้องไว้ที่ 1:50

ข้อวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยในปัจจุบัน

การศึกษาไทยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาและความล้มเหลวที่เกิดขึ้น จากการจัดอันดับตามรายงานของ World Economic Forum ในปี พ.ศ. 2555 - 2556 ระบุว่าประเทศไทยมีอันดับคุณภาพทางการศึกษาลำดับสุดท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ  โดยคนไทยกว่าร้อยละ 87 เชื่อว่าการศึกษาไทยอยู่อันดับสุดท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนจริง  ซึ่งมูลเหตุที่สำคัญมาจากปัญหาที่สะสมมานานหลายประการอันเกิดมาจากระบบการเรียนการสอน หลักสูตร ครูผู้สอน โอกาสการเข้าถึงการศึกษา รวมไปถึงคุณภาพของนักเรียนไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางการศึกษาสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แต่การบริหารจัดการยังไม่ดีมากนักโดยพบว่างบประมาณส่วนใหญ่ทุ่มเทไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐานโดยมีการใช้งบประมาณแบบตำน้ำพริกละลายในแม่น้ำเป็นส่วนมาก(นำไปใช้ไม่ตรงจุดสำคัญที่ควรได้รับการพัฒนา หรือนำไปจัดการแต่ละเรื่องมากเกินกว่าผลผลิตคุณภาพที่ได้ไม่คุ้มค่า และถ้าหากได้รับงบน้อยก็จะส่งผลต่อนักเรียนที่ได้รับโอกาสไม่เท่ากันมากขึ้น) อีกทั้งเป็นไปในสัดส่วนที่มากกว่าอาชีวศึกษาค่อนข้างมาก ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษายังไม่มีประสิทธิภาพสูงมากนักและไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันยุคสังคมเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้น  นอกจากนี้แม้จะจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นจำนวนมาก แต่ยังพบปัญหาโอกาสการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มีฐานะและผู้ไม่มีฐานะ ยิ่งมองให้ลึกไปถึงผู้บริหารระดับสูงไม่มีความรู้ด้านวิชาการอย่างลึกซึ้งจึงพึ่งพิงบุคลากรระดับการจัดการงบประมาณหรือนักจัดการเงิน/จัดจ้างเป็นสำคัญ (ผู้ใช้งบประมาณไม่เข้าใจเชิงวิชาการการจัดการศึกษาเชิงรุกอย่างลึกซึ้ง นักวิชาการไม่มีโอกาสลงลึกถึงงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษา) และหรือผู้ที่เข้าใจระบบการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ(นักวิชาการทุกระดับความคิด ปัจจุบันยังใช้ความคิดของนักการศึกษาในยุคเก่าและหรือดำเนินการพัฒนาคุณภาพแบบโยนหินถามทาง และไม่กล้าสู้ปัญหาแบบกล้าคิดกล้าทำที่สมควรบุกเบิกการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง) ผู้รู้หรือนักวิชาการอิสระที่มีความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาไม่มีโอกาสเข้าร่วมให้ข้อคิดหรือข้อเสนอแนะแบบประชาพิจารณ์ร่วม รวมไปถึงปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับหลักสูตรและการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยหลักสูตรของไทยไม่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพที่ตรงตามความสามารถของผู้เรียน เมื่อรวมเข้ากับค่านิยมของสังคมทำให้การจัดหลักสูตรของไทยไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

การศึกษาหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

ในเดือนกันยายน 2557 มีข่าวว่า ชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ถูกลบออกจากแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ วินัย รอดจ่าย เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง แบบเรียนประวัติศาสตร์ใหม่ไม่กล่าวถึงรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ เพียงแต่ระบุว่ามีรัฐบาลหนึ่งที่ "ได้ความนิยมจากประชาชนผ่านงบประมาณมหาศาล" แต่กล่าวถึงการคัดค้านการปกครองของทักษิณ โดยอธิบายการประท้วงซึ่งเกิดก่อนการโค่นอำนาจเขาว่าเป็น "ขบวนการประชาชนต่ออำนาจเผด็จการ การทุจริตและการยักยอก"
ภายใต้หลักสูตรใหม่ นักเรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับความหมายและสัญลักษณ์นิยมของธงไตรรงค์ และจะเปิดเพลงอย่างสรรเสริญพระบารมีในโรงเรียน เด็กนักเรียนจะถูกฝึกให้เป็นทูตจิตวิญญาณรักชาติ โดยยกตัวอย่างนักเรียนตักเตือนผู้ใหญ่ที่ไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ จะมีการติดป้ายขนาดใหญ่ซึ่งมีค่านิยม 12 ข้อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังริเริ่ม "พาสปอร์ตความดี" ซึ่งนักเรียนต้องบันทึกพฤติกรรมและเจตคติ

นางสาวประกายแก้ว  สุขอร่าม  รหัส 587190512   ป.บัณฑิต  รุ่น  17  หมู่ 5
แหล่งที่มา  https://th.wikipedia.org
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น